วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2558

การเขียนหนังสือสำหรับเด็ก ครั้งที่2

เนื้อหาในแต่ละหน้า
หน้าที่ 1 – 2 : ในป่าใหญ่ที่มีสัตว์มากมายอาศัยอยู่ สัตว์ทุกตัวกำลังวุ่นอยู่กับงานของตัวเองไม่มีใครสนใจการเลือกตั้งเจ้าป่าที่ใกล้เข้ามาทุกที
หน้าที่ 3 – 4 : ผู้ลงสมัครเป็นเจ้าป่ามีอยู่สองตัวก็คือ สิงโตผู้น่าเกรงขาม และเสือดาวเจ้าเล่ห์ที่ชอบแกล้งสัตว์ตัวอื่นๆ อยู่เป็นประจำ
หน้าที่ 5 – 6 : จนเมื่อวันเลือกตั้งมาถึงสัตว์ทุกตัวก็ยังวุ่นอยู่กับงานเหมือนเดิม ไม่มีสัตว์ตัวใดมาเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งต้องถูกยกเลิกไป
หน้าที่ 7 – 8 : เจ้าเสือดาวเจ้าเล่ห์จึงถือตนเองเป็นผู้ปกครองป่าผืนนี้ เจ้าเสือดาวได้ใช้อำนาจของตนเองกดขี่ข่มเหงรังแกสัตว์ตัวอื่นไปทั่ว
หน้าที่ 9 – 10 : เจ้าลิงถูกแย่งกล้วยไป จึงร้อง เจี๊ยก เจี๊ยก เจ้านกถูกทำลายรัง จึงร้อง จิ๊บ จิ๊บ
หน้าที่ 11 – 12 :  เจ้าช้างถูกกัดที่ขา จึงร้อง แปร๋น แปร๋น เจ้าม้าถูกทำลายทุ่งหญ้า จึงร้อง ฮี่ ฮี่ 
หน้าที่ 13 – 14 : จนสัตว์ทุกตัวในป่าทนไม่ไหว จึงรวมตัวกันขอร้องให้มีการเลือกตั้งเจ้าป่าครั้งใหม่
หน้าที่ 15 – 16 : เมื่อถึงวันเลือกตั้งครั้งนี้ สัตว์ทุกตัวต่างออกมาใช้สิทธ์เลือกตั้งกันอย่างร่วมมือร่วมใจ ทุกตัวพยายามเลือกผู้นำที่ดีที่สุดให้แก่ตัวเอง
หน้าที่ 17 – 18 : ผลการเลือกตั้งออกมาเป็นเอกฉันท์ สิงโตผู้น่าเกรงขามถูกเลือกให้เป็นเจ้าป่าที่ทำหน้าที่ปกครองป่าผืนนี้
หน้าที่ 19 – 20 :  เมื่อได้รับเลือก สิงโตจึงดูแลสัตว์ทุกตัวในป่าเป็นอย่างดี สัตว์ในป่าจึงอยู่รวมกันอย่างมีความสุขตลอดไป


นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การเลือกตั้งนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก ทุกคนควรออกมาใช้สิทธิ์ของตัวเองเ พื่อให้มีผู้นำที่ดี

วันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558

เขื่อนขุนด่านปราการชล


ครั้งนี้เราจะมาแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวน่าไปที่นอกจากจะได้ความเพลิดเพลินชมวิวที่สวยงามกันแล้ว ยังได้รับความรู้อย่างมากมายอีกด้วย และที่นั่นก็คือ เขื่อนขุนด่านปราการชล โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัดยาวที่สุดในประเทศไทยและในโลก ที่จังหวัดนครนายกนั่นเองค่ะ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖  เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนม์พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการ และก่อสร้างเขื่อนคลองท่าด่าน ที่บ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำนครนายกตอนบน เพื่อช่วยให้ราษฎรทางตอนล่างมีน้ำใช้ทำการเกษตร การอุปโภคบริโภค รวมทั้งช่วยบรรเทาอุทกภัยที่มักจะเกิดขึ้นในเขตจังหวัดนครนายกเป็นเป็นประจำทุกปี เพื่อการอุตสาหกรรม และเพื่อการแก้ไขพื้นที่ดินเปรี้ยวอีกด้วย



ตัวเขื่อนประกอบด้วยเขื่อนหลักและเขื่อนรองสร้างด้วยคอนกรีตบดอัด ปัจจุบันเป็น เขื่อนคอนกรีตบดอัดที่มีความยาวที่สุดในโลก มีความยาวรวม 2,593 เมตร ความสูง ( สูงสุด ) 93 เมตร รับน้ำที่ไหลจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ผ่านน้ำตกเหวนรกลงสู่อ่างเก็บน้ำมีความจุ 224 ล้าน ลบม.

วัตถุประสงค์
๑.  เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุน โดยสามารถจัดสรรน้ำให้พื้นที่ชลประทาน ได้ ๑๘๕,๐๐๐ ไร่ ด้วยโครงการท่าด่านเดิม ๖,๐๐๐ ไร่ โครงการท่าด่านส่วนขยาย ๑๔,๐๐๐ ไร่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก  ๑๖๕,๐๐๐ ไร่
๒.  เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรม  
๓.  เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตจังหวัดนครนายก
๔.  เพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวในเขตจังหวัดนครนายก

การเดินทาง
- รถยนต์ จากกรุงเทพ ฯ ( ทางหลวงหมายเลข 305 หรือ 33) – นครนายก – (น้ำตกนางรองใช้ถนนหมายเลข 3049) – ผ่านอุทยานวังตะไคร้ เลี้ยวขวาเข้าถนนสู่ตัวเขื่อน
- รถโดยสารประจำทาง จากกรุงเทพ ฯ นครนายก มีบริการรถโดยสารประจำทางทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (ถนนกำแพงเพชร 2) ทุกวัน สอบถามได้ที่ โทร .0-2936-3660, 0-2936-3666


ข้อมูลติดต่อ
เขื่อนขุนด่านฯ ตู้ ปณ. 4 ต.หินตั้ง อ.เมือง นครนายก 26000
โทรศัพท์ 0 3738 4208-9 โทรสาร 0 3738 4210



เขื่อนขุนด่านปราการชลถือเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ดีมากอีกที่หนึ่ง เพราะว่าสามารถนำไปบูรณาการกับการเรียนการสอนได้มากมาย ยกตัวอย่างเช่น เรื่องพระราชกรณียกิจของในหลวงในวิชาสังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม เรื่องตำแหน่งที่ตั้งและที่มาของน้ำที่ไหลมาในวิชาภูมิศาสตร์ การแก้ปัญหาดินเปรี้ยวและเพราะพันธ์ปลาในวิชาเกษตกรรม การคำนวณปริมาณน้ำในแต่ละปีในวิชาคณิตศาสตร์ เรื่องระบบการกับเก็บน้ำในวิชาวิทยาศาสตร์ และอีกมากมายที่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้สอนจะสามารถนำความรู้ในเรื่องต่างๆ ไปปรับใช้ได้มากน้อยแค่ไหนค่ะ

แน่นอนว่ามาถึงเขื่อนขุนด่านปราการชลทั้งที เรามาลองเก็บเกี่ยวความรู้ให้ได้มากที่สุดกันดีกว่าว่าจะได้ความรู้ในเรื่องใดบ้าง
- หนึ่งในโครงการในพระราชดำริ พระราชกรณียกิจของในหลวงนั้นมีมากมายจนอธิบายไม่หมด นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างของโครงการที่ควรศึกษาไว้ค่ะ
- ตำแหน่งที่ตั้ง เขื่อนนี้ตั้งอยู่ในจังหวัดนครนายก สามารถรับน้ำที่ไหลจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ผ่านน้ำตกเหวนรกลงสู่อ่างเก็บน้ำในเขื่อน
- การจัดการระบบน้ำ ทั้งในเรื่องของการผันน้ำ การระบายน้ำล้น การระบายน้ำฉุกเฉิน การระบายลำน้ำเดิม การระบายน้ำคลองชลประทาน
- ขนาดและความจุของเขื่อน ว่าเขื่อนนี้รับปริมาณได้มากน้อยแค่ไหน
- เป็นแหล่งน้ำในการทำเกษตรกรรม การอุปโภคบริโภค และบรรเทาอุทกภัยในกับจังหวัดนครนายก
- เป็นสถานที่ตัวอย่างในการแก้ปัญหาดินเปรี้ยว และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา

เมื่อได้ความรู้ไปมากมายแล้ว ก็มาพูดต่อในเรื่องของเจตคติกันว่าได้อะไรมาบ้าง
- พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการก่อสร้างเขื่อนนี้ ในหลวงทรงมีพระประสงค์เพื่อที่จะขจัดปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้ง และดินเปรี้ยว ด้วยการพัฒนาแหล่งน้ำ และระบบชลประทานขนาดใหญ่ที่สามารถเก็บกักน้ำและจัดสรรน้ำอย่างเป็นระบบ ให้พอเพียงกับความต้องการของกิจกรรมทุกประเภทภายในลุ่มน้ำนครนายกและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเป็นสิริมงคลสูงสุดแก่พสกนิกรชาวจังหวัดนครนายกเป็นอย่างสูง
- ความมุ่งมั่นในการทำงาน กว่าจะก่อตั้งโครงการแต่ละโครงการขึ้นมาได้ต้อง จะต้องมีขั้นตอนกระบวนการที่มากมาย เมื่อไปเห็นสถานที่ที่กว้างใหญ่ขนาดนั้นจึงอดคิดไม่ได้ว่าในหลวงต้องเหน็ดเหนื่อยและมุ่งมั่นมากขนาดไหน

นอกจากนี้ยังได้ ทักษะการแก้ปัญหาที่ดี เพราะเขื่อนนี้ก่อตั้งขึ้นมาจากการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร ไร่นาและพื้นที่การเกษตรในหน้าฝน แก้ปัญหาภัยหน้าแล้ง และปัญหาดินเปรี้ยว ให้พื้นที่บริเวณนั้นมีความอุดมณ์สมบูรณ์ ให้ได้เรียนรู้ว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว เราควรแก้ปัญหาอย่างไรให้ตรงจุด และไม่กระทบกระเทือนกับสิ่งอื่น เป็นทักษะที่ใช้ได้เมื่อเกิดปัญหาต่างๆขึ้น

เห็นมั้ยคะว่าการไปเที่ยวครั้งนี้นี่ได้ความรู้มากมายเลย ใครที่เบื่อน้ำทะเล หรือน้ำตกแล้ว ว่างๆ อยากไปเที่ยวก็ขอให้เขื่อนขุนด่านปราการชลเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกนะคะ เพราะว่าบรรยากาศดีและอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากค่ะ




วันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558

การเขียนหนังสือสำหรับเด็ก ครั้งที่1

การเขียนหนังสือนิทานสำหรับเด็กๆนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะคะ ต้องมากหลายขั้นตอนมากๆ ตอนนี้เราก็เริ่มทำแบบค่อยเป็นค่อยไปอยู่ค่ะ เริ่มจากเขียนเค้าโครงของหนังสือกันก่อนเลย

Theme ค่านิยม  12 ประการ : ข้อที่ 7 เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง

ชื่อเรื่อง : เจ้าป่าตัวใหม่

กลุ่มเป้าหมาย : วัยประถมศึกษาตอนต้น (ป.1-.2 อายุ 6-7 ขวบ)

ประเภทหนังสือ : บันเทิงคดี (ร้อยกรอง)

แก่นของเรื่อง/สาระสำคัญ : การเลือกตั้ง

โครงสร้างเนื้อหา/ความนำและความท้าย : ในป่าใหญ่ที่มีสัตว์มากมายอาศัยอยู่ ทุกตัวกำลังมุ่นอยู่กับงานของตัวเองไม่มีใครสนใจการเลือกตั้งเจ้าป่าที่ใกล้เข้ามาทุกที ผู้ลงสมัครเป็นเจ้าป่ามีอยู่สองตัวคือ เสือดาวเจ้าเล่ห์ที่ชอบแกล้งสัตว์ตัวอื่นๆและสิงโตผู้น่าเกรงขาม จนเมื่อวันเลือกตั้งมาถึงก็ไม่มีสัตว์ตัวใดมา ทำให้การเลือกตั้งต้องถูกยกเลิก เจ้าเสือดาวเจ้าเล่ห์จึงถือตนเองเป็นผู้ปกครองป่าผืนนี้ เจ้าเสือดาวได้ใช้อำนาจของตนเองกดขี่ข่มเหงรังแกสัตว์ตัวอื่นไปทั่ว จนสัตว์ทุกตัวทนไม่ไหวจึงรวมตัวกันขอร้องให้มีการเลือกตั้งเจ้าป่าครั้งใหม่ เมื่อถึงวันเลือกตั้งครั้งนี้สัตว์ทุกตัวต่างออกมาใช้สิทธ์เลือกตั้งกันอย่างร่วมมือร่วมใจ ผลการเลือกตั้งเป็นเอกฉันท์ สิงโตผู้น่าเกรงขามถูกเลือกให้เป็นเจ้าป่า เมื่อได้รับเลือกสิงโตจึงดูแลสัตว์ทุกตัวในป่าเป็นอย่างดี สัตว์ในป่าจึงอยู่รวมกันอย่างมีความสุขตลอดไป

ฉาก : ป่า ที่เลือกตั้ง


ตัวละคร : สิงโต เสือดาว และสัตว์ที่อยู่ในป่า ( กระต่าย ลิง ช้าง ยีราฟ ม้าลาย หนู)

ในส่วนโครงร่างคร่าวๆก็จะเป็นแบบนี้หละค่ะ ที่เราต้องคิดเป็นส่วนแรกในการทำหนังสือนิทาน